วันนี้กระปุกดอทคอม นำสรรพคุณของขมิ้นอ้อยมาบอกให้ทราบกัน ขอบอกว่าประโยชน์ครอบจักรวาลจริง ๆ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma zedoaria (Berg) Roscoe
ชื่อสามัญ : Zedoary, Luya-Luyahan
วงศ์ : Zingiberaceae
ลักษณะของ ขมิ้นอ้อย
ต้น : ขมิ้นอ้อย เป็นไม้ล้มลุกสูง 50-70 ซม. ลักษณะคล้ายขมิ้นชัน แต่ต้นสูงกว่า ขนาดเหง้าและใบใหญ่กว่า โดยเหง้าใต้ดินจะโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อย มีเนื้อในสีเหลืองอมส้ม กลีบดอกสีนวล มีกลิ่นหอม
ใบ : ใบออกเป็นรัศมีติดผิวดิน รูปหอกแกมขอบขนาน กว้าง 8-10 ซม. ยาว 30-40 ซม. ก้านใบยาว 8-15 ซม. ท้องใบจะมีขนนิ่ม ๆ ในหน้าแล้งใบจะแห้งลงหัว บางครั้งเราก็เรียกว่าขมิ้นหัวขึ้น
ดอก : ขมิ้นอ้อยจะออกดอกเป็นช่อ ก้านดอกยาวพุ่งออกจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ช่อดอกจะมีใบประดับ ดอกมีสีขาว ตรงปลายช่อดอกจะเป็นสีชมพู ส่วนดอกสีเหลืองจะบานจากล่างขึ้นข้างบน และจะบานครั้งละ 2-3 ดอก
ขมิ้นอ้อย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เหง้ามาปลูก การปลูกขมิ้นอ้อยที่ดีที่สุด ควรปลูกราว ๆ เดือนพฤษภาคม ย่างเข้าฤดูฝน และไม่ควรให้น้ำขังจะทำให้เหง้าขมิ้นเน่าเสีย ในหน้าหนาวขมิ้นอ้อยจะมีต้นโทรมหัวใหญ่
ส่วนที่ใช้ทำยา
ใบ มีรสเฝื่อน ช่วยขับปัสสาวะ แก้ช้ำบวม
เหง้า มีรสเฝื่อน แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว สมานลำไส้ แก้อักเสบ แก้ลม แก้เลือดคั่ง เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก
ขมิ้นอ้อย
สรรพคุณ ของ ขมิ้นอ้อย
รักษาอาการท้องร่วง ท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิด หรืออหิวาตกโรค) โดยใช้หัวขมิ้นอ้อยสด ๆ ประมาณ 2 แว่น มาบดผสมกับน้ำปูนใส กินแก้ท้องร่วงได้
รักษาแผล โดยนำขมิ้นอ้อยไปหุงในน้ำมันมะพร้าว แล้วนำมาใส่แผล จะช่วยให้แผลหายเร็ว เนื่องจากหัวขมิ้นอ้อยเป็นยาฝาดสมานด้วย
รักษาฝี ถ้าเป็นฝีหัวเดือน ให้นำใบไผ่มาเผ่าไฟให้ไหม้ แล้วนำหัวขมิ้นอ้อยมาตำด้วยกัน แล้วใช้น้ำเป็นกระสายยา และใช้ได้ทั้งกินและทา หรือพอก
แก้ฝีในมดลูก โดยใช้ขมิ้นอ้อย 3 ท่อน บอระเพ็ด 3 ท่อน ลูกขี้กาแดง 1 ลูก (ผ่าเป็น 4 ซีกแต่ใช้แค่ 3) นำมาต้มรวมกับสุรา กินแก้ฝีในมดลูกได้
รักษาอาการเสี้ยนหนามตำ โดยนำขมิ้นอ้อยมา 5 แว่น ข้าวเหนียวสุก ประมาณ 1 กำมือ ดอกชบา 5 ดอก ใช้ตำพอก จะดูดเสี้ยนและหนองออกจากแผลได้
รักษาอาการปวดบวม ฟกช้ำ โดยนำขมิ้นสด ๆ มาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกบริเวณปวดบวม ฟกช้ำ
แก้หวัด โดยนำหัวขมิ้นอ้อย พริกหาง อบเชยเทศ มาต้มและเติมน้ำผึ้งลงไปผสม นำมารับประทานแก้หวัดได้
แก้ริดสีดวงทวาร นำขมิ้นอ้อย พริกไทยล่อน เปลือกยางแดง มาผสมกันทำยาผง แล้วนำไปละลายในน้ำยางใส ปั้นทั้งหมดเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วชี้ รับประทานเช้า-เย็น
แก้หัดหลบใน นำต้นต่อไส้ 1 กำมือ ขมิ้นอ้อย 5 แว่นมาต้มรวมกับน้ำปูนใสพอสมควร แล้วใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชาก่อนอาหารเช้าเย็น
ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝี หนองที่แผล เชื้ออหิวาตกโรค เชื้อที่ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เชื้อที่ทำให้เจ็บคอ เพราะน้ำมันหอมระเหยในขมิ้นอ้อย จะมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ดี
ฆ่าเชื้อรา มีผลวิจัยพบว่า ขมิ้นอ้อย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้ถึง 11 ชนิด และหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราอีก 4 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น กลาก ชันนะตุ เชื้อราที่เล็บ ผิวหนัง ซอกนิ้วเท้า นอกจากนี้ ขมิ้นชัน ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้เหมือนขมิ้นอ้อย
ขับลม น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นอ้อย สามารถช่วยขับลมในท้องได้
บำรุงผิว นำขมิ้นอ้อย กระชาก พริกไทย หัวแห้วหมู มาทุบรวมกันแล้วดองด้วยน้ำผึ้ง รับประทานก่อนนอนทุกคืน จะช่วยให้ผิวสวย
ทั้งนี้ นอกจากจะนำขมิ้นอ้อยมาใช้เป็นยารักษาโรคแล้ว ยังสามารถใช้แต่งสีเหลืองในอาหาร เช่น ข้าวเหนียวเหลือง ขนมเบื้องญวน ได้ แถมยังนำมาย้อมสีผ้าให้เป็นสีเหลืองได้อีก
เห็นไหมว่า ประโยชน์ใช้สอยของ "ขมิ้นอ้อย" มีมากมายเลยทีเดียว ทีนี้ใครมีอาการอะไรที่กล่าวมาข้างต้น ก็ปลูกขมิ้นอ้อยไว้ใช้รักษาด้วยตัวเองได้เลย
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก csamunpri.com , diokorat.in.th , กระปุก