วัย 40 กับอาการปวดท้อง
อายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็ยิ่งถามหา ยิ่งในวัยเลข 4 ด้วยแล้ว หลายคนมักมีปัญหาในเรื่องของอาการปวดท้อง ซึ่งงานนี้คุณๆ
วัยสีสิบอัพควรรู้ตัวก่อนว่า เจ้าอาการปวดท้องนั้นมีสาเหตุจากอะไร และบริเวณที่ปวดนั้นสามารถบ่งบอกอะไรกับเราได้บ้าง
โรงพยาบาลพญาไท ให้ข้อมูลว่า อาการปวดท้องที่มักเกิดขึ้นบ่อยกับคนวัย 40 และอาการที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยมากที่สุด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้รู้สึกปวดท้องนั้นมีหลายสาเหตุด้วย แต่พอจะแบ่งสาเหตุใหญ่ๆ ได้คือ อาการปวดท้องที่มีสาเหตุมาจากอวัยวะภายในช่องท้อง และสาเหตุจากอวัยวะนอกช่องท้อง
สาเหตุจากอวัยวะภายในช่องท้อง
ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร, โรคในระบบทางเดินน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี, โรคเกี่ยวกับตับ เช่น โรคเนื้องอกที่ตับ, โรคฝีในตับ, โรคเกี่ยวกับตับอ่อน เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ, โรคเกี่ยวกับลำไส้ เช่น ลำไส้อักเสบ ซึ่งมักจะมีการขับถ่ายที่ผิดปกติร่วมด้วย, โรคไส้ติ่งอักเสบ, โรคเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ โรคต่างๆ ในช่องท้องนี้ยังมีอีกมากมายซึ่งทำให้เกิดอาการปวดท้องขึ้นได้ นอกจากนี้โรคในระบบทางเดินปัสสาวะและโรคเฉพาะสตรีก็อาจทำให้ปวดท้องได้
สาเหตุจากอวัยวะภายนอกช่องท้อง
สามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องได้โดยที่อาจทำให้เข้าใจผิดว่ามาจากโรคภายในช่องท้องที่สำคัญ ได้แก่ โรคปอดบวมแล้วมีเยื่อหุ้มปอดอักเสบ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งพบในผู้ป่วยวัยกลางคนขึ้นไปอาจมีอาการปวด จุกแน่นบริเวณช่องท้องส่วนบน, โรคหลอดอาหารส่วนปลายอักเสบ แม้กระทั่งโรคที่ผิวหนังที่บริเวณหน้าท้องก็อาจจะทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงได้ เช่น โรคงูสวัด จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณหน้าท้องก่อนจะมีตุ่มใสๆ เกิดขึ้นที่บริเวณหน้าท้องก็ได้
บริเวณที่ปวดบอกอะไร
กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้ว่าอาการปวดท้องนั้นเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากโรคต่างๆ ได้มากมาย ซึ่งเราสามารถแบ่งบริเวณที่ปวดท้องได้เป็น 9 ส่วนคือ
1. ชายโครงขวา คือ ตับและถุงน้ำดี อาการที่พบมักจะกดแล้วเจอก้อนแข็งร่วมกับอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ซึ่งสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าอาจเป็นโรคเกี่ยวกับตับหรือถุงน้ำดีเช่น ตับอักเสบ ฝีในตับถุงน้ำดีอักเสบ
2. ใต้ลิ้นปี่ คือ กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับ และกระดูกลิ้นปี่ ถ้าปวดเป็นประจำเวลาหิวหรืออิ่ม อาจเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะ ถ้าปวดรุนแรงร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นโรคตับอ่อนอักเสบ หากคลำเจอก้อนเนื้อค่อนข้างแข็งและมีขนาดใหญ่อาจหมายถึงตับโต แต่หากคลำได้ก้อนสามเหลี่ยมแบนเล็กๆ มักเป็นกระดูกลิ้นปี่
3. ชายโครงขวา คือ ม้าม ซึ่งมักจะคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณนี้
4. บั้นเอวขวา คือ ท่อไต ไต ลำไส้ใหญ่ ถ้าปวดร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติหรือถ่ายเป็นเลือด อาจเป็นเพราะลำไส้ใหญ่อักเสบ ถ้าปวดร้าวถึงต้นขา อาจเป็นนิ่วในท่อไต หากปวดร่วมกับปวดหลัง มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น อาจเป็นกรวยไตอักเสบและถ้าคลำเจอก้อนเนื้ออาจเป็นไตโตผิดปกติหรือเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
5. รอบสะดือ คือ ลำไส้เล็ก มักพบในโรคท้องเดินหรือไส้ติ่งอักเสบ (ก่อนจะย้ายมาปวดท้องน้อยขวา) แต่ถ้าปวดแบบมีลมในท้องก็อาจเป็นเพราะกระเพาะลำไส้ทำงานผิดปกติ
6. บั้นเอวซ้าย คือ ท่อไต ไต ลำไส้ใหญ่ ถ้าปวดร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติหรือถ่ายเป็นเลือด อาจเป็นเพราะลำไส้ใหญ่อักเสบ ถ้าปวดร้าวถึงต้นขา อาจเป็นนิ่วในท่อไต หากปวดร่วมกับปวดหลัง มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น อาจเป็นกรวยไตอักเสบและถ้าคลำเจอก้อนเนื้ออาจเป็นไตโตผิดปกติหรือเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
7. ท้องน้อยขวา คือ ไส้ติ่ง ท่อไต และปีกมดลูก ปวดเกร็งเป็นระยะ ร้าวมาที่ต้นขา อาจเป็นเพราะมีก้อนนิ่วในกรวยไต ถ้าปวดเสียดตลอดเวลา กดแล้วเจ็บมาก มักเป็นไส้ติ่งอักเสบ หรือถ้าปวดร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น มีตกขาว มักเป็นเพราะปีกมดลูกอักเสบ และหากคลำแล้วเจอก้อนเนื้อ อาจเป็นก้อนไส้ติ่งหรือรังไข่ผิดปกติ
8. ท้องน้อย คือ กระเพาะปัสสาวะและมดลูก ถ้าปวดเวลาถ่ายปัสสาวะหรือถ่ายกะปริบกะปรอย มักเป็นเพราะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ถ้าปวดเกร็งเวลามีประจำเดือน เป็นอาการปวดประจำเดือน แต่ในรายที่ปวดเรื้อรังในหญิงแต่งงานแล้วไม่มีบุตร อาจเป็นเนื้องอกในมดลูก
9. ท้องน้อยซ้าย คือ ปีกมดลูกและท่อไต ถ้าปวดเกร็งเป็นระยะและร้าวมาที่ต้นขา มักเป็นนิ่วในท่อไต หากปวดร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น ตกขาว เป็นเพราะมดลูกอักเสบ หรือถ้าปวดร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติ อาจเป็นเพราะลำไส้ใหญ่อักเสบ แต่ถ้าคลำพบก้อนร่วมกับอาการท้องผูกเป็นประจำ อาจเป็นเนื้องอกในลำไส้
อาการนี้อันตรายแน่
1. คุณปวดท้องใต้ชายโครงขวา หรือไม่?
2. หลังรับประทานอาหารแล้ว คุณมีอาการแน่นท้องอืดนาน แถมมีคนทักคุณว่าตาเหลืองด้วย หรือไม่?
3. คุณปวดท้องแน่นท้องส่วนบน แถมมีไข้หนาวสั่นด้วย หรือไม่?
หากคุณพบว่ามีอาการใดอาการหนึ่ง อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคสำคัญ ดังนั้น ควรพบและปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียด
ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info
ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน
(ติดต่อขอใช้บทความที่ฝ่ายการตลาด)
ที่มาข้อมูล : www.e-magazine.info