2556/04/01

ความเชื่อเรื่องการไหว้ราหู การเตรียมของดำไหว้บูชาพระราหู



        บูชาพระราหู ไหว้ราหู เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต้องไหว้พระราหู โดยมีของไหว้ ท่องคาถาบูชาพระราหู เทวดานพเคราะห์ 
        สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา ดาวราหูได้โคจรเข้าสู่ราศีตุลย์ ซึ่งในทางโหราศาสตร์เชื่อว่า การย้ายราศีของดาวราหูในครั้งนี้ มีความพิเศษกว่าครั้งอื่น ๆ  เพราะเป็นการโคจรมาเจอกันของดาวราหู และดาวเสาร์ ที่จะส่งผลให้ทวีความรุนแรงเป็นเท่าตัว ดังนั้นผู้ที่เกิดราศีตุลย์ (18 ตุลาคม-16 พฤศจิกายน) และผู้ที่เกิดในราศีเมษ (14 เมษายน-14 พฤษภาคม) ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายราหูดังกล่าว จึงหันมาทำพิธีไหว้ราหูกันเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกัน และปัดเป่าสิ่งเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต        ทั้งนี้ พระราหู หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เทพราหู เป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่งในคติไทย ซึ่งมีความเชื่อกันว่า สามารถบันดาลประโยชน์และโทษให้เกิดขึ้นกับบุคคล หรือสิ่งต่าง ๆ ได้ ดังนั้น เพื่อให้สิ่งเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นบรรเทาเบาบางลง และแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ดี ให้เกิดความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีโชคมีลาภ เจริญก้าวหน้าร่ำรวยยิ่งขึ้น จึงได้มีการบูชาพระราหูเกิดขึ้น โดยบางครั้งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า การไหว้ราหู นั่นเอง

        ถึงแม้การไหว้ราหูจะเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่า การไหว้ราหูมีความเป็นมาอย่างไร รวมถึงมีความสำคัญในด้านใดบ้าง ดังนั้น ทีมงานกระปุกดอทคอม จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตำนานพระราหู รวมถึงการเตรียมของไหว้ และการทำพิธีไหว้ สำหรับผู้ที่ต้องการบูชาพระราหูมาฝากกันดังนี้ค่ะ 

ตำนานเกี่ยวกับพระราหู
        เนื่องจากตำนานเกี่ยวกับพระราหูทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องเล่าที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ดังนั้นเนื้อเรื่องจึงความหลากหลายแตกต่างกันไป โดยตัวอย่างตำนานของพระราหูที่พอจะเป็นที่รู้จักกันบ้าง มีดังนี้

1.ตำนานพระอิศวรสร้างพระราหู


                 ในตำนานแรกนั้นจะแสดงถึงตำนานทางคติพราหมณ์ ในตำราไสยศาสตร์ หรือศิวะศาสตร์ของพราหมณ์นั้นแสดงไว้ถึงการกำเนิดเทพยดานพเคราะห์ทั้ง 9 พระองค์ไว้ ดังนี้ พระอิศวรทางเป็นผู้สร้างเทพยดานพเคราะห์ทั้ง 9 พระองค์ ด้วยพระองค์เอง ดังนั้นเทพยดานพเคราะห์ทั้ง 9 จึงล้วนมีฤทธิ์มีศักดานุภาพมากนัก
        ในเทพยดานพเคราะห์ทั้ง 9 นี้ มีองค์หนึ่งทรงเป็นเทพอสูร ที่มีฤทธิ์เดชร้ายกาจมาก อานุภาพเป็นที่ยำเกรงของทวยเทพเทวาทั้งหลาย ซึ่งเทพองค์นั้น คือ พระราหูจอมอสุรินทร์ ซึ่งพระอิศวรได้นำหัวผีโขมด จำนวน 12 หัวมาป่นให้เป็นเถ้าธุลี จากนั้นห่อด้วยผ้าสีดำ เสกเป่าแล้วพรมลงด้วยน้ำอมฤต บัดดลบังเกิดขึ้นเป็นอสูรเทพซึ่งมีรูปร่างใหญ่โต ครึ่งบนเป็นเทพอสูร ครึ่งล่างเป็นงู โดยมีนามว่า พระราหู ทั้งนี้ พระราหูทรงเดชานุภาพครอบงำได้ทั้งสามโลก จึงเป็นที่เกรงกลัวต่อพระสุริยเทพ พระจันทราเทพ นับเป็นเทพนพเคราะห์อันดับที่ 8 ที่มีกำลังนพเคราะห์เป็น 12 โดยเป็นเทพแห่งวันพุธกลางคืน
        นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่า อิทธิฤทธิ์ของอสูรเทพราหูนั้นพิสดารอย่างยิ่ง เมื่อแรกกำเนิดนั้นมีร่างกายครึ่งบนเป็นยักษ์ ครึ่งล่างเป็นพญานาค มีร่างกายสีทองอมดำสัมฤทธิ์ ทรงครุฑเป็นพาหนะ บ้างว่าทรงเมฆหมอก แสดงเห็นว่าพระราหูนั้นเป็นควบคุมธาตุน้ำ และธาตุลม บ้างก็ว่าพระราหูทรงพาหนะเป็นยักษ์ ทางโหราศาสตร์ถือว่ามีพระราหูมีพระเสาร์เป็นเพื่อนสนิท เมื่อพระราหูกำเนิดมาแล้วยังมีเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย
        โดยเรื่องเล่าในกาลต่อมา คือ พระราหูได้แอบขโมยน้ำอมกฤตเพื่อดื่มกินให้ตนเองเป็นอมตะ มีอำนาจเหนือเทพยดาทั้งหลาย แต่พระอาทิตย์และพระจันทร์ แอบรู้เห็นการกระทำของพระราหูเข้า จึงทูลต่อพระนารายณ์ เมื่อพระนารายณ์ทรงทราบว่าพระราหูอาจเป็นภัยต่อทั้งสามโลก จึงทรงกริ้ว และขว้างจักรเข้าตัดกลางกายของพระราหู แต่ดีที่ว่าพระราหูนั้นได้ดื่มกินน้ำอมกฤตเข้าไปแล้วจึงไม่สิ้นใจ และแม้จะมีครึ่งกายพระราหูก็ยังมีอำนาจท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นท่อนล่างมีลักษณะเป็นงูนั้น ได้กลายเป็นเทพยดาขึ้นใหม่อีกพระองค์หนึ่ง นามว่าพระเกตุ โดยทรงมีฤทธิ์เดชไม่แพ้กัน ถือว่าพระเกตุนี้เป็นเทพคุ้มครองดวงชะตา ใครมีพระเดชกุมลักษณ์ คนนั้นมักปลอดภัยจากภยันอันตรายทั้งหลายทั้งปวง
        ส่วนพระราหูซึ่งแค้นใจที่พระอาทิตย์และพระจันทร์แอบนำเรื่องที่ตนดื่มกินน้ำอมฤตไปทูลฟ้องพระนารายณ์ เมื่อสบโอกาสเหมาะเมื่อใด พระราหูจึงเข้าจับพระอาทิตย์พระจันทร์มากลืนกินทุกครั้ง แต่เมื่อได้ยินเสียงตีเกราะเคาะไม้ก็คายพระอาทิตย์ และพระจันทร์ออกมา การกลืนพระอาทิตย์พระราหู ได้เรียกว่า สุริยคราส ขณะที่การกลืนพระจันทร์ เรียกว่า จันทรคราส นั่นคือเรื่องเล่าของปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้นทางดาราศาสตร์ทุกวันนี้

2. ตำนานพระราหูในพระพุทธศาสนา 

        ในวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาได้เล่าเรื่อง พระราหู พระอาทิตย์ และพระจันทร์ เกี่ยวกับบุพพกรรมที่ทั้งสามได้เคยสร้างร่วมกันมาว่า ทั้งสามคือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระราหูเกิดเป็นพี่น้องกัน มีพระอาทิตย์เป็นพี่คนโต พระจันทร์เป็นคนรอง พระราหูเป็นน้องเล็ก พระอาทิตย์ และพระจันทร์นั้นนิสัยดีชอบทำบุญใส่บาตร เลือกเอาของดีถวายพระภิกษุสงฆ์เสมอ ๆ แต่พระราหู มีนิสัยเกเร เจ้าโทสะ ไม่ค่อยประดิษฐ์ประดอยเหมือนพี่ ๆ ครั้งหนึ่งพระอาทิตย์ชวนน้องทั้งสองใส่บาตร พระอาทิตย์เลือกใช้ขันทอง พระจันทร์เลือกใช้ขันเงิน แต่พระราหูนั้นเลือกเอากะลาเป็นขันใส่ข้าว รวมทั้งทัพพีตักข้าว
        ในกาลต่อมา พระอาทิตย์ตั้งจิตอธิษฐานให้ตนเองเกิดเป็นสุริยเทพผู้มีรัศมีสองแสงเป็นสีทองส่องสว่างแก่มนุษย์ยามกลางวัน พระจันทร์ตั้งจิตขอไปเกิดเป็นจันทราเทพผู้มีรัศมีเย็นตา ให้ความสว่างแก่มนุษย์ยามกลางคืน ส่วนพระราหูนั้นต้องการมีเดชอำนาจเหนือพี่ทั้งสองด้วยอำนาจจิตดังกล่าวเมื่อสิ้นใจไปแล้วทำให้เกิดเป็นเทพอสูรนามว่า พระราหู ที่มีร่างกายดำทะมึนมีอำนาจสามารถดับความสว่างของพระอาทิตย์และพระจันทร์ได้ เมื่อใดที่พระราหูเจอพระอาทิตย์ และ พระจันทร์ จึงเป็นต้องเข้าไปอมบ้าง ไปหนีบไว้ที่รักแร้บ้าง ซ่อนไว้ใต้คางบ้างเป็นเช่นนี้เสมอไป และลักษณะการบดบังพระอาทิตย์ และพระจันทร์ดังกล่าวนี้ ครูบาอาจารย์ชั้นต่อ ๆ มาจึงนำมาวาดเป็นยันต์พระราหู หรือมาแกะลายพระราหูบังพระอาทิตย์ แต่ส่วนมากมักเลือกเอากิริยาที่พระราหูอมพระอาทิตย์พระจันทร์มากที่สุด
3.ตำนานพระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทร์ราหู
        มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระราหูได้เคยเข้าจับพระอาทิตย์มากลืนกิน บังเกิดเป็นสุริยคราส ครั้งนั้นเทพยดาทั้งหลายได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าเข้าช่วยเหลือ จึงทรงกล่าวพระพุทธคาถาแก่พระราหู เมื่อพระราหูได้ฟังแล้ว ก็บังเกิดอาการขนพองสยองเกล้ารีบคายพระอาทิตย์ออก ก่อนหนีกลับเข้าเมืองอสูร เพราะรู้สึกราวกับว่า ศีรษะจะระเบิดออกมาเป็นเจ็ดเสี่ยง จากนั้นพระราหูได้ไปเล่าให้เพื่อนอสูรฟังว่าพระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก และไม่อาจต้านทานฤทธานุภาพพระพุทธองค์ได้
        ในพระไตรปิฏกยังเล่าอีกว่า พระราหูเคยคิดเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่คิดในใจว่าตนเองนั้นร่างกายใหญ่โต ไฉนเลยจะเข้าไปกราบพระพุทธองค์ได้ ด้านพระพุทธเจ้าที่สามารถรู้ถึงความคิดของพระราหูได้ จึงเนรมิตร่างกายตนให้ใหญ่กว่าพระราหูหลายร้อยหลายพันเท่า และประทับอยู่ในกิริยานอนประทับปางไสยยาสน์ เมื่อราหูมาถึงที่ประทับยังนึกในใจอยู่ว่าพระองค์คงร่างเล็กนิดเดียว ก้มลงมองหาเท่าไหรก็ไม่พบ จนท้อใจคิดจะกลับเมือง แต่เมื่อได้ยินเสียงพระพุทธเจ้าตรัสทัก และพอมองขึ้นไปจึงพบว่าร่างกายของพระพุทธเจ้าใหญ่โตยิ่งกว่าตนมากมายนัก พระราหูจึงเกิดความเกรงในพระพุทธบารมี และเชื่อมั่นในพระพุทธคุณของพระพุทธองค์ จึงขอเอาพระไตรสรณคมณ์เป็นที่พึ่ง และถือว่าพระรูปปางสีหไสยยาสน์นั้นเป็นปางปราบอสุรินทร์ราหู ทำให้ผู้ที่มีราหูเข้าแทรกในดวง หากได้บูชาพระพุทธรูปปางนึ้จะดีกับตนเองยิ่งขึ้น
        ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ยังได้กล่าวถึงบุพกรรมแต่หนหลังของพระราหูว่า พระราหูเคยตั้งปณิธานไว้ว่า จะเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งการบำเพ็ญบารมีของพระราหูทุกภพชาติที่ผ่านมานั้น พระพุทธเจ้ามองว่าจะสำเร็จแน่นอนในอนาคตกาล โดยอาจเป็นพระโพธิญาณ หรือ บรรลุเป็นอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทำให้พระราหูปลาบปลื้ม และมีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ จนตั้งใจบำเพ็ญเพียรทางพระโพธิญาณให้มากยิ่งขึ้น
        ทั้งนี้ในพระไตรปิฎยังกล่าวอีกว่า พระราหูจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านาม พระนารทพุทธเจ้า นับเป็นองค์ที่ห้าถัดจากพระศรีอารยเมตไตรพุทธเจ้า จากคติดังกล่าวนี้จึงถือว่าพระราหูนั้นมีฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ และเป็นหน่อเนื้อพระพุทธางกูรแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่น่าเคารพกราบไหว้ของชาวพุทธ ซึ่งการกราบไหว้พระโพธิสัตว์เป็นคตินิยมของมหายาน แต่ฝ่ายหินยานหรือในบ้านเรานั้นรู้จักเรื่องพระโพธิสัตว์น้อย        และพระโพธิสัตว์ บางครั้งมีรูปกายสวยงาม บางครั้งก็มีรูปกายน่ากลัว และสามารถบังเกิดในภพภูมิใดก็ได้ อย่างพระราหูเป็นพระโพธิสัตว์ที่รูปกายน่ากลัว และเป็นพระโพธิสัตว์ที่เกิดขึ้นในแดนอสูร ทำหน้าที่ดูแลพระพุทธศาสนา ให้พรคนดี ย่ำยีคนชั่ว บำเพ็ญบารมีสร้างภพชาติเพื่อสืบพระพุทธวงศ์มิให้สิ้นสูญ โปรดสรรพสัตว์ให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นมหาบารมีมหาปณิธานอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นจึงสมควรที่จะได้รับการกราบไหว้บูชาเช่นเทพเจ้าองค์อื่น ๆ

4. ตำนานพระโพธิสัตว์ราหูเทพอสุรินทร์

        ในบรรดาเทพนพเคราะห์ทั้ง 9 องค์นั้นมีเพียงพระราหูพระองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นพระโพธิสัตว์และได้รับการพยากรณ์แล้ว แม้พระอาทิตย์และพระจันทร์ผู้มีบุญญาธิการอันสูงส่ง ก็มิได้เป็นพระบรมโพธิสัตว์ เช่น พระราหู ดังนั้น การนับถือพระราหูจึงไม่ใช่การบูชาภูตผีปีศาจ แต่เป็นการบูชาพระโพธิสัตว์ในรูปกายแห่งเทพอสูร อันเป็นคติสอนให้พิจารณาว่า อย่ามองที่รูปกายภายนอก แม้ว่ารูปกายแห่งพระราหูจะดูดุดันน่ากลัว แต่คุณธรรมภายในนั้นกลับตรงข้าม พระราหูเป็นเทพอสูรที่บำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุพระโพธิญาณมานับชาติไม่ถ้วน ภายในจิตใจนั้นมีแต่ความปรารถนาดีต่อมวลมนุษย์ สิ่งเลวร้ายในชีวิตมนุษย์นั้นไซร์ย่อมเกิดจากผลกรรมเก่าและใหม่ที่ตนก่อไว้ เมื่อถึงเวลา กรรมนั้นย่อมเป็นไปตามกลไกของมัน พระราหูเทพอสุรินทร์เป็นเทพยเจ้าผู้เป็นพยานแห่งการกระทำกรรมของมนุษย์ หาได้ให้ร้ายใคร
        ส่วนเรื่องอิทธิฤทธิ์ของพระราหูนี้มีมากนัก แม้ว่าต่อมาจะเหลือร่างกายเพียงครึ่งเดียวแต่ก็ทรงตบะเดชะไม่เป็นสองรองใคร ซ้ำยังสามารถเข้าบดบังพระอาทิตย์และพระจันทร์ได้ ซึ่งอำนาจในการบดบังพระอาทิตย์นี้ ครูบาอาจารย์บางท่านได้กล่าวสรรเสริญไว้ว่า แม้ดวงอาทิตย์ที่ร้อนแรงก็ยังมีพระราหูมาบดบังให้เยือกเย็น ท่านจึงว่าพระราหูนั้นมีคุณในการดับร้อนให้เป็นเย็น หรือมีอำนาจในการบังตาเป็นที่น่าอัศจรรย์
        ในการอธิษฐานขอบารมีพระราหูที่ถูกต้องนั้นให้อธิษฐานอ้างเอาคุณพระศรีรัตนตรัยขึ้นก่อน จากนั้นอธิษฐานถึงพระราหูว่า ขออำนาจบารมีพระอสุรเทพบรมโพธิสัตว์เสด็จพ่อพระราหู จงมาโปรดแก่ลูกด้วยแล้วทำการอธิษฐาน ทั้งนี้เพราะพระราหูนั้นมีเพศเป็นยักษ์และอยู่ในระดับอสูรเทพ และยังมีบารมีธรรมเป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่าจะต้องสำเร็จมรรคผลโพธิญาณอย่างแน่แท้ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์เช่นนี้จากพระพุทธเจ้าถือว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้ บำเพ็ญบารมีถึงเส้นชัยแล้วจึงได้รับการขนานพระนามเป็นเกียรติว่า พระบรมโพธิสัตว์ การอธิษฐานอ้างถึงคุณงามความดีของพระราหูดังกล่าว จึงถือเป็นอาราธนาคุณของพระราหูทั้งด้านบุญฤทธิ์ และอิทธฤทธิ์ พร้อมกันในตัว เป็นสิริมงคลแก่ผู้ระลึกถึงเป็นอย่างมาก

การเตรียมของไหว้ราหู

        เนื่องจากดาวราหูมีเลข 8 เป็นสัญลักษณ์ และมีกำลังเท่ากับ 12 ดังนั้นสามารถจัดของไหว้ 8 หรือ 12 อย่างก็ได้ แล้วแต่ศรัทธา แต่ของไหว้ต้องประกอบด้วย ของคาว  ของหวาน หรือผลไม้ และเครื่องดื่ม โดยของดำ 8 อย่างที่นิยมนำมาบูชา เนื่องจากมีความหมายดี ได้แก่
        1. ไก่ดำ หมายถึง การทำมาหากินที่ดี ไม่อดไม่อยาก        2. เหล้าดำ หมายถึง การลงทุนทำอะไรจะได้กำไรกลับมา        3. กาแฟดำ หมายถึง การคิดอะไร ก็จะสมหวัง        4. เฉาก๊วย หมายถึง ความใจเย็น มีความคิดรอบคอบ        5. ถั่วดำ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง        6. ข้าวเหนียวดำ หมายถึง ความเหนียวแน่นทางการเงิน        7. ขนมเปียกปูน  หมายถึง การปูนบำเหน็จรางวัล        8. ไข่เยี่ยวม้า หมายถึง การติดต่อสิ่งใด ก็จะสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้
        สำหรับการเตรียมของไหว้สีดำนั้น ในบางตำราอาจไม่ได้ระบุว่า ต้องเป็นของไหว้ชนิดใดอย่างชัดเจน  เนื่องจากในแต่ละพื้นที่อาจจะไม่สามารถหาของได้เหมือนกัน หรือบางท่านที่หาของตามนี้ไม่ได้ ก็อาจเปลี่ยนเป็นของดำอย่างอื่น เช่น องุ่นดำ งาดำ น้ำอัดลมสีดำ ทั้งนี้ของดำทั้ง 8 อย่างต้องพร้อมรับประทาน หรือดื่มได้ และต้องอย่าลืมเตรียมน้ำเปล่าอีก 1 แก้ว ตั้งไว้บนโต๊ะบูชาด้วย แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำพิธีกราบไหว้บูชา คือ จำนวนธูปที่ต้องใช้ตามจำนวนของที่ไหว้ เช่น ถ้าไหว้ 8 อย่างก็ใช้ธูป 8 ดอก เป็นต้น

ขั้นตอนการไหว้ราหู
        เมื่อได้ของดำ 8 อย่างมาแล้ว ให้เลือกทำพิธีกลางแจ้ง โดยใช้โต๊ะวางเพื่อตั้งสิ่งของบูชาที่กลางสนาม ที่ดาดฟ้าก็ หรือที่ระเบียงที่มีลมพัดผ่าน ส่วนการตั้งโต๊ะบูชาหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และเริ่มไหว้ในคืนวันพุธ ในช่วงเวลาระหว่าง 18.00-24.00 น. จากนั้นจุดธูปเทียนให้พร้อมแล้วเริ่มด้วยบทสวดพระราหู ดังนี้

คาถาบูชาพระราหู (ตั้งนะโม 3 จบ)
        ตามด้วยพระคาถาสุริยะบัพพา        กุสเสโตมะมะ กุสเสโตโต ลาลามะมะ        โตลาโม โทลาโมมะมะ โทลาโมมะมะ        โทลาโมตัง เหกุติมะมะ เหกุติฯ
        พระคาถาจันทบัพพา        ยัตถะตังมะมะ ตังถะยะ ตะวะตัง        มะมะตัง วะติตัง เสกามะมะ        กาเสตัง กาติยังมะมะ ยะติกาฯ

จากนั้นกล่าวคำถวายเครื่องเซ่นไหว้พระราหู ดังนี้ 
        นะโมเม พระราหูเทวานัง ธูปะทีปะ        จะปุปผัง สักการะวันทะนัง สูปะพะยัญชะนะ        สัมปันนัง โภชะ นานัง        สาลีนัง สะปะริวารัง อุทะกังวะรัง        อาคัจฉันตุ ปะริภุญชันตุ สัพพะทา        หิตายะ สุขายะ พระราหูเทวา        มะหิทธิกา เตปิ อัมเห        อะนุรัก ขันตุ อาโรคะ        เยนะ สุเขมะจะฯ
        ข้าพเจ้า (ชื่อนามสกุล) ขอบูชาพระราหูด้วยของดำ (8 หรือ 12) อย่าง          ขอให้อิทธิพลของดาวราหูจงส่งผลดีแก่ดวงชะตาของข้าพเจ้า        ขอให้เกิดทางสว่างในหน้าที่การงาน        ขอให้มีสุขภาพที่แข็งแรงปราศจากโรคร้ายใด ๆ        ขอให้มีสติในเรื่องความรัก        ขอให้ดาวราหูประทานพรโชคลาภและความสำเร็จแก่ข้าพเจ้า        (อธิฐานเรื่องอื่น ๆ ตามที่ปรารถนา)
        จากนั้นให้ตั้งของบูชาทิ้งไว้ เมื่อธูปหมดดอกก็เป็นอันเสร็จพิธี ให้นำของบูชาทั้งหมดมารับประทานได้ 
        สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อ และความเป็นมาในการทำพิธีไหว้ราหูที่นำเสนอในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกคนได้ได้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโชคชะตาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งการทำพีธีดังกล่าวเป็นเรื่องของความเชื่อที่อาจกล่าวได้ว่า การไหว้ราหู นอกจากจะช่วยให้เรามีขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้นแล้ว การยึดมั่นในศีลธรรมอันดี อาจช่วยให้ผู้ศรัทธาเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ดีขึ้น แต่การกราบไหว้บูชา ก็ควรทำอย่างมีสติ และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะหากขาดความยั้งคิดแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้นมา ผู้นั้นก็อาจจะพลาดพลั้ง จนกระทั่งแนะนำไปสู่เหตุการณ์ที่เลวร้ายได้ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
-  
 photoontour.com 
-  watkaokrailas.com 
-  promdeva.com
-  เฟซบุ๊ก หมอช้าง ทศพร ศรีตุลา